ค้าปลีกถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย คิดเป็น 15% ของจีดีพีประเทศ โดยเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตจัดอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกไทย ที่มีการแข่งขันสูงและใกล้ชิดกับผู้บริโภคอย่างมาก บนพื้นฐานของความมั่นคงทางอาหาร การสำรวจเพื่อตรวจสอบนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ต จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริโภค
ทีมงานแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” ได้เผยผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค ประจำปี 2563 ของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศไทย พบว่าปีนี้ แม็คโคร, ท็อปส์ มาร์เก็ต และซีพี เฟรชมาร์ท ครองอันดับ 1 ร่วมกัน จากคะแนนรวมที่เท่ากัน ทั้งนี้ แม็คโคร และ ซีพี เฟรชมาร์ท ยังคงติดโผ 3 อันดับแรกที่มีคะแนนรวมสูงสุดเช่นเดียวกับสองปีที่ผ่านมา

สำหรับตัวชี้วัดของการประเมินในปีนี้แบ่งเป็น 3 มิติหลัก ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า และ ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก โดย แม็คโครได้คะแนนสูงสุดในมิติความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ส่วนท้อปส์ มาร์เก็ต และซีพี เฟรชมาร์ท ได้คะแนนสูงสุดในมิติความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีกเท่ากัน
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูผลการประเมินสองปีที่ผ่านมาจะพบว่า เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ครองแชมป์คะแนนรวมสูงสุดทั้งสองครั้ง แต่ในปีนี้ไม่ติดกลุ่มผู้นำ อาจจะมาจากปัญหาภายในองค์กร จนทำให้ต้องประกาศขายกิจการ แต่เชื่อว่าจะมีโอกาสกลับมาทวงแชมป์คืน หากซีพีสามารถต่อยอดเทสโก้ โลตัส ในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคและสังคมได้ เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยจำนวนมากเติบโตเคียงคู่มากับเทสโก้ โลตัส บางรายเริ่มจากการผลิตในครัวเรือน จนปัจจุบันผลิตสินค้ามาตรฐานส่งออก ส่วนคู่ค้าหลายรายก็มียอดขายเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เทสโก้ โลตัส ภูมิใจ เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการเหล่านี้แล้ว ยังได้ร่วมมือกันพัฒนาวิธีการผลิตและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ทางการตลาด นอกจากนั้นยังมีโครงการให้ความรู้ผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างแข็งแรงอีกหลายโครงการด้วย
การเติบโตของเทสโก้ โลตัส ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นจำนวนมาก โดยปัจจุบันเทสโก้ โลตัสจ้างพนักงานประจำกว่า 50,000 ตำแหน่ง และมีการจ้างงานผ่านคู่ค้าของเทสโก้ โลตัส อีกกว่า 500,000 คน นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะสามารถต่อยอดคุณค่าสู่ความยั่งยืนติดอันดับในปีหน้าได้อย่างไม่ยากนัก
นอกจากนี้ ในภาพรวมการประเมินยังพบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังมีมิติที่ต้องเร่งปรับปรุงอยู่อีกมาก เช่น ควรมีการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าและส่วนประกอบของสินค้า พร้อมให้ข้อมูลด้านโภชนาการและข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญแก่ผู้บริโภค ซึ่งในส่วนนี้ทางกลุ่มซีพี โดยเฉพาะซีพีเอฟก็ได้พัฒนาและใช้ระบบนี้อย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และเชื่อว่าเมื่อขยายมาสู่กลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต จะยิ่งทำให้การพัฒนาปรับปรุงเป็นอย่างก้าวกระโดด