แม้กระแสการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV จะเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนในแวดวงยานยนต์มากขึ้น แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงตั้งคำถามถึงสมรรถนะในการขับขี่ ความปลอดภัย รวมถึงข้อสงสัยที่ว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นการใช้พลังงานสะอาดที่แท้จริงหรือไม่ วันนี้ จะพาทุกคนไปรู้จักกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) จะเป็นอย่างไร?
ZEV คืออะไร?
ZEV ย่อมาจาก Zero Emission Vehicle หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ โดยคำนึงถึงแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่นำมาใช้กับยานพาหนะชนิดนี้ หากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยังนับว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ หรืออาจกล่าวได้ว่า ZEV คือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยแหล่งที่มาที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดมลภาวะใด ๆ แก่ชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น เช่น การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ หรือแม้แต่การใช้พลังงานจากไฮโดรเจนเหลว
รถประเภทไหนจัดเป็น ZEV บ้าง?
• Plug-in hybrid – รถยนต์น้ำมันที่มีแบตขนาดใหญ่และรูเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟจากบ้านเรือน รถยนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ได้แก่ Chevrolet Volt, Toyota Prius Prime (เป็นรุ่น PHEV) เป็นต้น
• Battery electric vehicles – รถยนต์ไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ 100% มีแต่แบตเตอรี่อย่างเดียว รถยนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ได้แก่ Tesla Model S, Nissan leaf, Tesla Model 3, Tesla Roadster, Chevrolet Bolt, Audi E-tron, Porsche Taycan, เป็นต้น
• Hydrogen fuel cell vehicle – รถยนต์ที่ใช้ Fuel Cell เป็นแหล่งพลังงานหลัก และใช้แบตเตอรี่ หรือ Super-Capacitor (SuperCap) เป็นตัวเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ให้ดีขึ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า ใช้ hydrogen มาเป็นทำปฏิกริยากับ oxygen ในแผง fuel cell จากนั้นก็ผลิตกำลังไฟฟ้าออกมาเพื่อใช้ปั่นมอเตอร์ รถยนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ได้แก่ Toyota Mirai เป็นต้น
ลดภาษีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า กระตุ้นยอดการใช้รถยนต์พลังงานสะอาด
ปัจจุบัน (สถิติ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศทั้งสิ้น 40,712,043 คัน แต่ยอดสะสมจากการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) มีจำนวนเพียงแค่ 2,854 คัน เป็นยอดจดทะเบียนรถที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือ ZEV ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ และ รถจักรยานยนต์ 2 ล้อไฟฟ้าแบตเตอรี่ รวมกันตํ่ากว่า 1% ของยานยนต์ที่จําหน่ายทั่วประเทศ
กรมการขนส่งทางบก จึงได้ร่วมสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยการแก้ไขกฎ ระเบียบ ให้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้ และลดอัตราภาษีรถประจำปีสำหรับรถพลังงานสะอาด รายละเอียดดังนี้
1. รถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า หากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง จะเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตราเดียวกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ซึ่งจะน้อยกว่าอัตราภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
2. รถตู้ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงรถบดถนน รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร และรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จัดเก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่งของรถประเภทเดียวกันที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เสียภาษีประจำปีคันละ 100 บาท ในขณะที่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากไฟฟ้าจะเสียภาษีประจำปีคันละ 50 บาท เท่านั้น
3. รถที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV เป็นเชื้อเพลิง จัดเก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด
4. รถที่ใช้ NGV ร่วมหรือสลับกับน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บภาษีในอัตราสามในสี่ของอัตราที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังสามารถดูรายละเอียดอัตราภาษีรถประเภทต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th
ในอนาคต คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของโลกให้คงอยู่ เป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องช่วยกันดูแล เพราะการปล่อยให้โลกต้องเข้าสู่สภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของทุกคนในสังคมแบบไม่มีข้อยกเว้น ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ขอบคุณข้อมูลจาก HengDirect โบรกเกอร์ประกันรถยนต์ออนไลน์ www.hengdirect.co.th