กระแสแชร์ต่อที่ถูกพูดถึงอย่างมากอีกเรื่องคือข้อความที่บอกว่า “คอเลสเตอรอลไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ แต่คอเลสเตอรอลมีประโยชน์กับร่างกายควรรับประทานให้มากจะดี” ทั้งยังอ้างอิงถึงผลสำรวจว่าคนที่ไม่บริโภคคอเลสเตอรอลมีอัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตมากกว่าคนที่บริโภคคอเลสเตอรอล ในส่วนที่บอกว่าคอเลสเตอรอลมีประโยชน์ต่อร่างกาย เราคงไม่เถียง เพราะระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องใช้คอเลสเตอรอลเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ส่วนที่บอกว่าคอเลสเตอรอลไม่ได้ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ อันนี้ต้องขอค้าน เพราะมันไม่ใช่ความจริง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคอเลสเตอรอลกันก่อน
คอเลสเตอรอล คือ กรดไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายมาก เพราะนอกจากจะมีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารที่จำเป็นไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว มันยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ น้ำย่อย วิตามินดี และยังจำเป็นต่อการพัฒนาการของเซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายด้วย
โดยปกติร่างกายจะสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งาน เมื่อใดที่ปริมาณคอเลสเตอรอลเริ่มสูงเกินไป ระบบในร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการลดการสังเคราะห์ลง แต่ทว่าคอเลสเตอรอลที่เราได้รับไม่ได้มาจากการสังเคราะห์ของร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้รับมาจากอาหารที่เรากินเข้าไปด้วย นั่นก็หมายความว่า พฤติกรรมการกินอาหารของเรามีผลต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของคอเลสเตอรอลในร่างกาย คอเลสเตอรอลทั้งจากที่เรากินเข้าไปและที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ
1.HDL (High Density Lipoprotien) เจ้า HDL ตัวนี้ถูกเรียกว่าไขมันดี เพราะมันจะไปทำหน้าที่จับไขมันที่ไม่ดีในกระแสเลือดออกไปทำลายที่ตับ ลดการเกาะตัวของไขมันไม่ดีในหลอดเลือด ช่วยให้หลอดเลือดไม่แข็งตัว ทำให้การไหลเวียนเลือดเป็นไปด้วยดี ซึ่งเราสามารถเพิ่ม HDL ให้ร่างกายได้ด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น พืชผักต่างๆ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต
2.LDL (Low Density Lipoprotien) มีหน้าที่นำคอเลสเตอรอลที่ออกมาจากตับไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะมี LDL น้อยกว่า HDL แต่เมื่อไหร่ที่ปริมาณ LDL สูงกว่า HDL มันจะกลายเป็นตัวอันตรายทันที เพราะมันจะไปเกาะตัวอยู่บนผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแคบลง เกิดการอุดตันและแข็งตัว ส่งผลให้เลือดไม่หมุนเวียน เกิดเป็นภาวะขาดเลือดจนอาจทำให้หัวใจวายได้ จากความน่ากลัวตรงนี้เราจึงเรียกเจ้า LDL นี้ว่าไขมันเลว อาหารที่กระตุ้นการเพิ่มของ LDL คืออาหารจำพวกไขมันอิ่มตัว ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ (ยกเว้นปลา) อาหารประเภทเนย ไอศกรีม ชีส เค้ก คุกกี้ ไข่ รวมไปถึงไขมันอิ่มตัวที่ได้มาจากพืชตระกูลปาล์ม เช่น น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม

คณะวิจัยจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ออกมาระบุชัดถึงผลการศึกษากรณีนี้ว่า ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยแสดงปริมาณ LDL และ HDL ที่ร่างกายควรได้รับ ดังนั้น ข้อมูลที่บอกว่าคอเลสเตอรอลไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดโรคหัวใจจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างขึ้นมาเท่านั้น

ตารางแสดงระดับไขมันในเลือดต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ส่วนในกรณีที่แชร์ข้อมูลต่อกันว่า ‘การดื่มน้ำมันมะพร้าวหรือกะทิเป็นประจำช่วยไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ’ ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งกรณีนี้ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้แจงว่า แม้น้ำมันมะพร้าวจะไม่มีคอเลสเตอรอล แต่ไขมันในน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันชนิดอิ่มตัว ซึ่งจะส่งผลให้ระดับไขมันเลว (LDL) ในเลือดเพิ่มขึ้น หากบริโภคเป็นประจำจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ ศ.นพ. ปิยะมิตร ยังได้แนะนำต่อว่า หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร ควรเลือกใช้น้ำมันพืชกลุ่มที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง คาโนลาออยล์ โดยต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับการประกอบอาหารแต่ละชนิด ที่สำคัญ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเกิดโรค และยังช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง 1. Biochemistry and Molecular Biology of MetabolicDiseases. [homepage on the Internet] Coronary artery disease. http://www.bmbmd.research.chula.ac.th/kn1.htm. (2016 Oct 20)
2. Pharmaceutical Research and Manufacturers Association. [homepage on the Internet]. http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=4&type=&Lang=th. (2016 Oct 23)