
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น้ำมันมะพร้าวได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะคำโฆษณาชวนเชื่อโดยอ้างถึงบทความวิชาการต่างๆ ว่าน้ำมันมะพร้าวมีสรรพคุณนานัปการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งหนึ่งในสรรพคุณที่มีการโฆษณากันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดียก็คือ กรดลอริก (lauric acid) ในน้ำมันมะพร้าวสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เพียงกลั้วปากด้วยน้ำมันมะพร้าวเป็นเวลา 15 นาทีก็ช่วยลดการเกิดกลิ่นและโรคในช่องปากได้
ความเชื่อที่ว่ากรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวฆ่าแบคทีเรียได้นั้น อ้างอิงมาจากการทดลองฆ่าแบคทีเรียในจานเพาะเลี้ยงในห้องแล็บแห่งหนึ่ง แต่สำหรับวงการแพทย์ หลักฐานที่อ้างอิงจากการวิจัยในสัตว์ทดลองถือเป็นหลักฐานระดับต่ำ ไม่สามารถนำมาใช้กับคนได้จริงๆ ซึ่งในกรณีนี้ ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่าระดับกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวที่เรารับประทานหรือใช้กลั้วปากจะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ดังนั้น ข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่ขณะนี้จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน
มีหลักฐานที่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจแล้วว่า การกลั้วปากด้วยน้ำมันมะพร้าวเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดอักเสบ! โดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา ทำให้การดื่มหรือกลั้วปากจะเกิดการสำลักได้ง่ายกว่าน้ำ เมื่อเกิดการสำลักแล้ว น้ำมันมะพร้าวจะเล็ดลอดลงไปในปอด กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้ปอดอักเสบได้ ยิ่งโดยเฉพาะคนสูงอายุ คนที่มีโรคทางสมอง คนที่กลืนลำบาก ไม่ควรอมหรือกลั้วคอ หรือกลืนน้ำมันมะพร้าวเข้าไปในร่างกายเด็ดขาด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการรักษาคนไข้โรคปอดอักเสบของ นพ.ดำเกิง ตันธรรมจาริก อายุรแพทย์โรคทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด ที่ตรวจพบความผิดปกติของปอดอักเสบในคนไข้จำนวน 2 ราย
รายแรกเป็นผู้ป่วยอายุ 79 ปี มีปัญหาเรื่องการสำลักและมีเสมหะเยอะ ญาติจึงให้กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นวันละ 1-2 ช้อนชา ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ตามความเชื่อว่าจะช่วยลดเสมหะได้ แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการไอ เป็นไข้ หอบรุนแรง เมื่อเอกซเรย์ปอดก็พบว่าปอดมีสีขาวขุ่นทั้งสองข้าง และเต็มไปด้วยเสมหะจำนวนมาก เมื่อดูดออกมาก็พบว่าเป็นไขสีขาวลอยอยู่เหนือน้ำ ผิดแปลกจากเสมหะโรคปอดอักเสบทั่วไปที่จะไม่เป็นไขและจมน้ำ หลังทำการตรวจพิสูจน์และวินิจฉัยอย่างละเอียดพบว่า สิ่งที่เกาะอยู่ในปอดและทำให้ปอดอักเสบคือไขมันมะพร้าว ซึ่งกว่าจะรักษาให้หายต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน ต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจเพราะผู้ป่วยอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว และต้องให้ยาปฏิชีวนะดูดซึมไขน้ำมันมะพร้าวออกมาเป็นเสมหะจนปอดสีขาวขุ่นค่อยจางลง

รายที่สอง เป็นผู้ป่วยอายุ 50 ปี มีพฤติกรรมใช้น้ำมันมะพร้าวกลั้วปากก่อนนอนติดต่อกันทุกวันนานถึง 3 เดือน เมื่อทำการตรวจรักษาก็พบว่ามีอาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยรายแรก คือมีสีขาวขุ่นเกาะเป็นเส้นใยที่ปอดข้างขวา จากการสอบประวัติผู้ป่วยรายนี้ไม่มีปัญหาการสำลัก แต่มีอาการไอ เมื่อวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องในปอด ดูดเสมหะ ก็พบน้ำเสมหะมีไขสีขาวลอยอยู่ด้านบน หลังจากตรวจพิสูจน์ก็พบว่ามันคือไขมัน
นอกจากการโฆษณาสรรพคุณเรื่องการฆ่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวมาแล้ว ยังมีการอวดอ้างว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยลดน้ำหนักได้ ซึ่งข้อมูลนี้ทำให้สุภาพสตรีที่ต้องการลดน้ำหนักซื้อน้ำมันมะพร้าวมาดื่มกันเป็นจำนวนมาก แต่วารสาร lipids 2009 ได้เปิดเผยข้อมูลวิจัยกรณีนี้ในประเทศบราซิล ซึ่งทำการทดลองกับกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง อายุระหว่าง 20-40 ปี โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 20 คน จำนวน 2 กลุ่ม ให้กลุ่มหนึ่งรับประทานน้ำมันมะพร้าว ส่วนอีกกลุ่มรับประทานน้ำมันถั่วเหลือง ในปริมาณ 30 มล./วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างการทดสอบผู้ทดสอบทุกคนจะได้รับอาหารพลังงานต่ำ (hypocaloric diet) และออกกำลังกาย 4 วัน/สัปดาห์ หลังการทดลองพบว่า น้ำหนัก ดัชนีมวลกาย และเส้นรอบพุงของทั้งสองกลุ่มลดลงในปริมาณที่ไม่ต่างกัน รวมถึงระดับไตรกลีเซอไรด์ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนที่จะทำการทดสอบ
แม้ผลการวิจัยนี้จะแสดงให้เห็นว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ได้มีผลต่อการลดลงของน้ำหนักตัวของกลุ่มทดลอง และไม่ได้ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น แต่การศึกษานี้ทำการทดสอบในคนกลุ่มน้อย และทดสอบเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 12 สัปดาห์ อีกทั้งการได้รับอาหารพลังงานต่ำและการออกกำลังกายก็นับเป็นปัจจัยร่วมที่อาจส่งเสริมให้ผลการทดลองเป็นไปในทางที่ดี ดังนั้น ข้อมูลที่มีในขณะนี้จึงยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลต่อการลดน้ำหนัก ยังควรต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อดูผลของน้ำมันมะพร้าวต่อการลดน้ำหนักต่อไปในระยะยาว สรุปแล้ว หากต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผลดีและปลอดภัยที่สุดควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการส่งต่อข้อมูลทางโภชนาการที่บิดเบือนข้อเท็จจริงอยู่ไม่น้อย ทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจในการเลือกบริโภคอาหารแบบผิดๆ ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลที่ได้รับมาอย่างละเอียด เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวท่านเองและคนรอบข้าง
แหล่งอ้างอิง 1. ภญ.ธนิกา ปฐมวิชัยวัฒน์. น้ำมันมะพร้าวกับการลดน้ำหนัก. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info.php?id=17 (10 มิถุนายน 2553)
2. นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์. บทความสุขภาพ. http://visitdrsant.blogspot.com/2011/05/blog-post_16.html (16 พฤษภาคม 2554)
3. หมอดื้อ. ความจริง(ที่ปกปิด)ของน้ำมันมะพร้าว. http://www.thairath.co.th/content/503397 (7 มิถุนายน 2558)
4. ปฏิญญา เอี่ยมตาล. น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเสี่ยงโรคปอดอักเสบ. http://www.komchadluek.net/news/detail/210896 (3 สิงหาคม 2558)