สถานที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ : 053 355 728 (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)
พิกัด : 18.588507, 98.486408
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ตั้งอยู่บนยอด
ดอยอินทนนท์ ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีระยะทางประมาณ 300 เมตร เป็นเส้นทางสั้นๆ ใช้เวลาเดินจบจนครบรอบปประมาณ 30 นาที ซึ่งจะต่างกับเส้นทางกิ่ว
แม่ปานที่ใช้เวลามากถึง 3 ชั่วโมง เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาเป็นเส้นทางเดินสบายๆ ชิลล์ๆ ไปตามทางเดินไม้ที่ลัดเลาะเข้าไปในผืนป่า เป็นทางเดินธรรมชาติที่มีความสวยงามและน่าประทับใจมากที่สุดสายหนึ่งของประเทศไทย เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับธรรมชาติอันน่าหลงใหลที่อุดมไปด้วยเสนห์ผืนป่าอินทนนท์ ผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติประเภทพรุน้ำจืดที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นบรรยากาศที่สามารถสร้างอารมณ์ได้แตกต่างไปจากผืนป่าแห่งอื่นใดในประเทศไทยที่ได้เคยสัมผัส เป็นป่าที่มีความพิเศษเฉพาะตัวหาได้มีที่ใดเสมอเหมือน
ก่อนเริ่มต้นเดินบนเส้นทางมหาเสน่ห์แห่งนี้ มาทำความรู้จักกับคำว่า “อ่างกา” กันก่อน ..อ่างกาเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติ มีขนาดพื้นที่มากกว่าสิบไร่ ตั้งอยู่บริเวณจุดที่สูงที่สุดของประเทศไทย หรือยอด
ดอยอินทนนท์ เป็นจุดที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี สำหรับที่มาของชื่อ “อ่างกา” มีอยู่ 3 แหล่งอ้างอิงด้วยกัน ที่มาแรก มีคนกล่าวว่ามีหินละม้ายคล้าย “กา” อยู่บริเวณอ่างน้ำแห่งนี้ ที่มาที่สองคือ ในสมัยก่อนเคยมีอีกามาอาศัยอยู่บริเวณแอ่งน้ำแห่งนี้ และที่มาสุดท้าย เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาท้องถิ่น คือคำว่า “อั่งกา” ที่แปลว่า “ภูเขาใหญ่” จนมาเป็นคำว่า อ่างกาในปัจจุบันนั้นเอง ..ทั้ง 3 แหล่งที่มานี้ อาจเป็นได้เพียงอันใดอันหนึ่ง หรือใช่ทั้งสามเลยก็ถือว่ามีเหตุผลและไม่เหนือคาดแต่อย่างใด
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอ่างกา แห่งนี้มีฉายาว่าเป็น “ประตูสู่หิมาลัย” เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัยที่ทอดยาวมาจากประเทศเนปาล ผ่านอินเดียและพม่าก่อนเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์นี้เองทำให้ได้รับอิทธิพลจากอากาศที่หนาวเย็นจัดตลอดปี มีลักษณะทางชีวภาพที่โดดเด่น นางเอกของเส้นทางสายนี้คือ ต้นกุหลาบพันปีที่จะอวดโฉมบานสะพรั่งเป็นดอกไม้สีแดงสด
มาเริ่มเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกากัน ตรงบริเวณทางเข้าจะมีป้ายไม้เขียนว่า “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” กับ “ศาลเจ้ากรมเกียรติ” สองสถานที่บนป้ายและเส้นทางเดียวกัน เข้ามาได้หน่อยเดียวจะมี “แผนที่ไม้” ตั้งอยู่ แผนที่บอกลักษณะของเส้นทางเดินที่เป็นแบบรอบวงกลม มีทางแยกแตกออกไปเล็กน้อย คือเส้นทางไปศาลเจ้ากรมเกียรติ
จุดสนใจต่างๆ พร้อมป้ายให้ความรู้ตามจุดนั้นๆ เช่น ข้าวตอกฤาษี ป่าพรุ อ่างกา พืชอิงอาศัย ซึ่งนอกจากจะได้เดินเที่ยวชมกันเพลินๆ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นแล้ว ยังได้ความรู้ควบคู่กันไปด้วย สมเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างแท้จริง แถมระหว่างทางยังได้ยินเสียงนกร้องเป็นระยะๆ
“อ่างกา” แหล่งน้ำบนหลังคาสยามอันเป็นที่มาของชื่อเส้นทางแห่งนี้ ในอดีตบนนี้เป็นแอ่งน้ำที่มีน้ำอยู่มากพอที่จะถูกสูบไปใช้ได้ หลังจากที่มีการสร้างห้องน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มาเยือน เนื่องจากบนยอดดอยนี้ไม่มีแหล่งน้ำใดๆ ในสมัยนั้น และเมื่อน้ำในอ่างกาถูกสูบไปใช้จนมีสภาพแห้งเหือด ส่งผลต่อระบบนิเวศน์บนดอยอินทนนท์อย่างรุนแรง จึงได้มีการสร้างแทงค์น้ำกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำไปใช้ภายในห้องน้ำแทน แต่เมื่อฉุกคิดได้ก็สายเสียแล้ว..
ขอบคุณข้อมูลจาก Traveller Freedom (http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard//topic,10177)