ต่อจากบทความที่แล้ว ... ประตูเชียงเรือก !! มาถึงการ
สืบชะตาประเพณีสืบชะตา เป็นประเพณีที่นิยมถือปฏิบัติกันของชาวไทยทางภาคเหนือ แต่ปัจจุบันความเชื่อและศรัทธาเริ่มกว้างมากขึ้น ในภาคอื่นๆ หรือแม้แต่ในหมู่คนกรุงฯ หรือวัยรุ่นมากขึ้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองและตัวบุคคล จึงมี การสืบชะตาบ้าน สืบชะตาเมือง และสืบชะตาคน
สืบชะตาเมือง เป็นประเพณีสำคัญของทางเชียงใหม่ที่จะต้องถือปฏิบัติกันทุกปี การทำบุญเมืองนั้นเพื่อสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในแก่ชาวบ้านชาวเมือง เป็นการสร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวเมือง เนื่องจากในสมัยโบราณกล่าวกันว่า การสืบชะตาเมืองมักจะจัดขึ้นในสองกรณีคือ
กรณีแรก จัดในยามที่บ้านเมืองเดือดร้อน ข้าวยากหมากแพง หรือเกิดศึกสงครามมีทั้งการสืบชะตาเมือง สืบชะตาเจ้าเมือง ทำบุญบูชาเซ่นไหว้ พระวิญญาณของเจ้าผู้ครองเชียงใหม่องค์ก่อนๆ ตลอดจน "พระเสื้อบ้าน พระเสื้อเมือง" เทพาอารักษ์ รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
กรณีที่สอง จัดในยามที่บ้านเมืองสงบสุข เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่บ้านเมือง ให้เสริมบารมีให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป
มักจะจัดกันในเดือนเก้า เพราะเป็นเลขที่เป็นสิริมงคล
ในปัจจุบันได้จัดสถานที่ประกอบพิธีรวม 10 แห่ง คือ
1. กลางเวียงเชียงใหม่
2. ประตูเชียงใหม่
3. ประตูช้างเผือก
4. ประตูท่าแพ
5. ประตูสวนดอก
6. ประตูสวนปรุง
7. แจ่งศรีภูมิ
8. แจ่งขะต๊ำ
9. แจ่งกู่เฮือง
10. แจ่งหัวลิน
นอกจากพิธีสืบชะตาเมืองของทางเมืองเชียงใหม่แล้ว ทางเหนือทั่วไปก็นิยมจัดประเพณีสืบชะตาบ้าน และสืบชะตาคนอีกด้วย
ประเพณีสืบชะตาบ้าน บ้านเรือนนั้นมีความสำคัญสำหรับครอบครัว เพราะมีบ้านมีเรือนเป็นสิ่งที่บุคคลจะอาศัยอยู่ จะบันดาลความสุขหรือความทุกข์ให้กับคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นภายในหมู่บ้านจึงมี "หอ" เป็นเรือนไม้เล็กๆ ปลูกอยู่ระหว่างทางแยก สำหรับเป็นที่อยู่ของเสื้อบ้าน การสืบชะตาบ้านนั้นมักนิยมทำกันก่อนวันเข้าพรรษา คือ ก่อนจะถึงวันสืบชะตา จะมีการประดับประดา "หอ" ให้สวยงามด้วยต้นกล้วย ใช้เป็นซุ้มประตูมีช่อตุงปักอยู่รอบๆ หอและสายสิญจ์โยง และมีการสังเวยหอด้วยอาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู เมี่ยง บุหรี่ พิธีสืบชะตาบ้านจะเริ่มจากการทำบุญตักบาตร และจะสวดชัยมงคลคาถา ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่ชาวบ้านที่ไปร่วมพิธีเอาความเป็นสิริมงคล ต่อจากนั้นมักมีการสวดขับไล่เสนียดจัญไรไปจากหมู่บ้าน เพื่อนำความร่มเย็นมาสู่คนในหมู่บ้าน
ประเพณีการสืบชะตาคน มักกระทำในวันสำคัญของบุคคล เช่น วันคล้ายวันเกิด วันได้รับยศหรือศักดิ์ วันขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น หรือไม่ก็กระทำเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเคราะห์ร้าย การสืบชะตาจึงไม่มีช่วงเวลาที่อิงกับเทศกาล หรือฤดูกาลใดๆ การสืบชะตาคนคือ การต่ออายุ เป็นพิธีกรรมที่กระทำตามความเชื่อของคนโบราณที่เชื่อสืบมาจนถึงคนรุ่นหลังว่า ถ้าทำแล้วอาการป่วย หรือเคราะห์ร้ายจะบรรเทาลง และจะมีสุขภาพดีขึ้น มีความสุข ความเจริญยิ่งขึ้น พิธีกรรมที่ทำก็เหมือนกับปัจจุบันทั่วไป ที่มีพระมาสวดทำพิธี ต่างๆตามศาสนา มักจะทำในที่โถงหรือวัด
การสืบชะตาคนเป็นเพียงพิธีกรรมตามความเชื่อ ทำให้ผู้เข้าพิธีมีความรู้สึกดีขึ้น มีกำลังใจ และความเชื่อมั่นว่าตนจะสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ต่อไป
ติดตามตอนต่อไป ที่จะขอนำเสนอ เสาอินทขีล หรือ สะดือเมืองเจียงใหม่เน่อเจ้า
https://www.facebook.com/jomthong.chainmai.5