ปารีส--26 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์-เฟิร์สท์คอลล์/อินโฟเควสท์
ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ในรายงานประจำปีฉบับก่อนๆ อาร์ทไพรซ์ (Artprice) ขอยืนยันว่า ภาคพื้นเอเชียทั้งหมดจะครองส่วนแบ่งกว่า 55% ในตลาดศิลปะโลกในปี 2555 และจะครองส่วนแบ่งอย่างน้อย 65%-70% ภายในปี 2558
อย่างไรก็ตาม แม้จีนครองความยิ่งใหญ่อย่างชัดเจนด้วยส่วนแบ่งตลาด 41% เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนแบ่งเพียง 23% แต่ภาคพื้นเอเชียซึ่งมีประชากร 61% ของทั้งหมดทั่วโลก เป็นตลาดที่มีความซับซ้อนมากและอาจเป็นฝันร้ายที่กลายเป็นจริงของบริษัทจากโลกตะวันตกที่ไม่เข้าใจลักษณะเฉพาะของภูมิภาคนี้
ยกตัวอย่างเช่น คำถามเกี่ยวกับ “ส่วนแบ่งตลาด” ของตลาดศิลปะเอเชียนั้น ความจริงแล้วมีความซับซ้อนกว่าที่เห็นมาก เมื่อดูตามเอกสาร จีนเป็นผู้นำอย่างเห็นได้ชัด แต่สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ก็อาจอ้างตัวว่าเป็นผู้นำได้เช่นกัน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประตูสู่ตลาดศิลปะเอเชีย (ซึ่งประกอบด้วยจีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบสมุทรอาหรับ รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ที่สำคัญมีอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น และทั้งสองแห่งก็เป็นศูนย์กลางการเงินและการบริหารความมั่งคั่งชั้นนำ นั่นคือ สิงคโปร์และฮ่องกง อาร์ทไพรซ์เปิดสาขาหลายแห่งในฮ่องกงมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิงคโปร์ซึ่งเป็นจุดใหญ่อีกจุดหนึ่งและมีความสำคัญที่สุดในเอเชียด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างมาก
สิงคโปร์เป็นเมืองระดับโลกที่มีวัฒนธรรมหลากหลายและเคลื่อนไหวตลอดเวลา สิงคโปร์มีมาตรฐานชีวิตที่สูงมาก มีการเมืองที่มั่นคง และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกจากนั้นยังมีสถานที่ทางศิลปะที่สำคัญ อุตสาหกรรมพิพิธภัณฑ์ที่ทรงอิทธิพล และท่าเรือเสรีที่รองรับความต้องการของตลาดศิลปะเอเชีย ขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังติดท็อป 3 ประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ครอบคลุมที่สุดในโลกด้วย
อาร์ทไพรซ์มีความยินดีที่จะประกาศว่า บริษัทได้สร้างความร่วมมือในระยะยาวกับ อาร์ท สเตจ สิงคโปร์ (Art Stage Singapore) ซึ่งเป็นงานแสดงศิลปะระดับนานาชาติงานสำคัญ เนื่องจากอาร์ท สเตจ สิงคโปร์ ต้องการขยายความร่วมมือในการผลิตและเผยแพร่หนังสือให้ความรู้และข้อมูลดิจิตอลถาวรสำหรับนักสะสมผลงานศิลปะในเอเชีย ตลอดจนรวบรวมฐานข้อมูลลูกค้าระดับคุณภาพเพื่อสร้างเครือข่ายที่มีมูลค่าเพิ่มบนโลกอินเทอร์เน็ต (Artprice's PMN(R)) ระหว่างงานแต่ละครั้งของอาร์ท สเตจ สิงคโปร์
การสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้ ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างภายในสิ้นปี 2555 เกิดขึ้นได้เพราะแรงสนับสนุนจากผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของทั้งสองบริษัท นั่นคือ ลอเรนโซ รูดอล์ฟ (Lorenzo Rudolf) ผู้ก่อตั้งอาร์ท สเตจ สิงคโปร์ และเธียร์รี เออร์มานน์ (Thierry Ehrmann) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งอาร์ทไพรซ์
เธียร์รี เออร์มานน์ กล่าวว่า
“อาร์ท สเตจ สิงคโปร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลสิงคโปร์เพราะต้องการให้เป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญของเอเชียนั้น ประสบความสำเร็จได้เพราะผู้ก่อตั้งอย่างลอเรนโซ รูดอล์ฟ เขาเป็น 1 ใน 5 สุดยอด “market maker” ของโลก (ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดศิลปะ) การทำงานของเขาน่าประทับใจและไร้ที่ติ ตั้งแต่การจัดงาน Art Basel ในช่วงทศวรรษ 2530 ไปจนถึงงาน Art Basel Miami และงาน ShContemporary ในเซี่ยงไฮ้ สำหรับอาร์ท สเตจ สิงคโปร์นั้น ถือเป็นผลพวงที่เกิดจากความชาญฉลาดและความรอบรู้ของตลาดศิลปะโลก โดยเฉพาะตลาดศิลปะเอเชีย ซึ่งไม่มีชาวยุโรปหรืออเมริกันคนใดที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดศิลปะสูงขนาดนี้ ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2556 อาร์ท สเตจ สิงคโปร์ จะมุ่งความสนใจไปที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่คึกคักที่สุดในเอเชียในแง่ของศิลปะ และเป็น “ดินแดนแห่งโอกาส” สำหรับอาร์ทไพรซ์ นอกจากนั้นแล้ว ความแข็งแกร่งของแกลเลอรีจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในอาร์ท สเตจ สิงคโปร์ จะช่วยให้การ “มุ่งสู่สากล” ของอาร์ทไพรซ์สำเร็จลงได้ด้วยดี”
ลอเรนโซ รูดอล์ฟ กล่าวว่า
“อาร์ท สเตจ สิงคโปร์ เป็นงานแสดงศิลปะระดับนานาชาติงานเดียวที่ครอบคลุมโซนเอเชียใต้และเอเชียแปซิฟิก และเป็นงานที่พลาดไม่ได้สำหรับนักสะสม ศิลปิน ผู้ซื้อผลงานศิลปะมือใหม่ สถาบันศิลปะ และแกลเลอรี่ศิลปะจากทั้งสองฟากฝั่งของเอเชีย สำหรับงานในปี 2556 จะมีการจัดแสดงศิลปะอินโดนีเซียที่มีชีวิตชีวาอย่างโดดเด่น (Indonesian Pavilion) นอกจากนั้นอาร์ท สเตจ สิงคโปร์ จะจัดงานแสดงทัศนศิลป์ (virtual art) เป็นครั้งแรกในเอเชียด้วย (Art Stage+)
พื้นที่ส่วนใหญ่ของงานจะอุทิศให้กับการจัดแสดงผลงานของศิลปินดัง 30 คนจากประเทศเศรษฐกิจใหม่ (Art Stage Singapore Initiative) รวมถึงการจัดแสดงผลงานศิลปะของชาติ (National Arts Council - NAC) ขณะเดียวกันออสเตรเลียก็ได้พื้นที่ไม่น้อยในบรรดาแกลเลอรี่ 130 แห่งจากทั่วโลก (80% จากเอเชีย และ 20% จากที่อื่นทั่วโลก) สุดท้ายจะมีการจัด Art Talks เพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับแนวโน้มศิลปะทั้งในเอเชียและทั่วโลก ทั้งนี้ การที่อาร์ท สเตจ สิงคโปร์ สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับอาร์ทไพรซ์ จะทำให้นักสะสมซึ่งเป็นที่เคารพนับถือจากทั่วเอเชียและที่อื่นๆทั่วโลก ได้รับบริการตามที่ต้องการและเป็นการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในตลาดศิลปะ”
อาร์ทไพรซ์ ในฐานะผู้นำของโลกด้านข้อมูลตลาดศิลปะ ได้ให้การสนับสนุนและช่วยตรวจสอบกลยุทธ์อันซับซ้อนของอาร์ท สเตจ สิงคโปร์ และผู้อำนวยการจัดงานลอเรนโซ รูดอล์ฟ สิงคโปร์ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลและรัฐก็ให้การสนับสนุนด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างดี สำหรับในแง่ของการอภิปรายเชิงวัฒนธรรมและสื่อศิลปะสมัยใหม่นั้น สิงคโปร์ถูกลิขิตให้กลายเป็นศูนย์กลางของผู้มีระดับในตลาดศิลปะเอเชีย ขณะเดียวกันการที่อาร์ทไพรซ์ได้ลงหลักปักฐานในฮ่องกงและเตรียมเปิดตัว Standardized Auction & Fixed-Price Marketplace ก็จะทำให้อาร์ทไพรซ์มีฐานที่มั่นที่เหมาะสมใจกลางตลาดศิลปะเอเชีย ซึ่งจะครองส่วนแบ่งเกือบ 70% ในตลาดศิลปะโลกภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี และอาร์ทไพรซ์จะเป็นช่องทางที่ลูกค้าเลือกใช้ในการซื้อขายผลงานศิลปะในงานอาร์ท สเตจ สิงคโปร์