โกหกแลนด์ (น.)
ความหมาย: ดินแดนสมมติที่ประกาศตนว่ามีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่านานาอารยประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี มีวัฒนธรรมอันประเสริฐไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าดินแดนใด มีรูปแบบการปกครองที่ให้อำนาจแก่ประชาชน และมีระบบกฎหมายอันเที่ยงธรรม ประชาชนในดินแดนนี้ล้วนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และสามัคคีธรรมสูง
เก้าอี้ (น.)
ความหมาย: อาวุธหนักประเภทหนึ่งซึ่งมอบเป็นรางวัลแด่คนช่างฝัน หรือใช้เป็นบทลงทัณฑ์สำหรับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง นิยมใช้ฟาดขณะที่ร่างกายลอยอยู่บนอากาศและมีเชือกแขวนคอ โดยมากผู้ที่ใช้อาวุธหนักประเภทนี้มักมองว่าผู้ที่ถูกใช้ไม่ใช่คน โดยเฉพาะไม่ใช่คนไทย
ที่มา: เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
มันเป็นเรื่องบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องการเมือง (สำนวน)
ความหมาย: เกี่ยวข้องกับเรื่องความกินดีอยู่ดีของประชาชนหรือความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการแบ่งปันหรือตักตวงผลประโยชน์ของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวและฉ้อฉล
ที่มา: ประโยคนี้เป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อบิดเบือนความหมายที่แท้จริงของการเมืองโดยฉายภาพให้การเมืองเป็นเรื่องชั่วร้าย และมักใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงการเมืองของอำนาจนอกระบบ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงการเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมืองอยู่ธรรมชาติอยู่แล้ว
ความเป็นกลาง (น.)
ความหมาย: ภาวะที่ไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ ไม่เข้าข้าง ไม่เอาใจช่วย หรือไม่เห็นด้วยกับกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ
มีผู้ให้ความเห็นว่าในปัจจุบัน คุณลักษณะเช่นนี้:
1. มีค่าเท่ากับความเห็นแก่ตัว;
2. หาได้ยากหรือแทบไม่มีเลย; หรือ
3. เป็นเหมือนผี คือรู้ว่ามีแต่ยังไม่เคยเจอ
สลิ่ม (น.)
ความหมาย: บุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ หรือค่านิยมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ ทั้งยังปากว่าตาขยิบ มีอคติและความดัดจริตสูง เกลียดนักการเมือง และไม่ชอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน
ที่มา: มาจากบุคคลที่อ้างว่าเกลียดเสื้อแดง แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นเหลืองพันธมิตร บุคคลเหล่านี้เมื่อรวมตัวกันมักสวมเสื้อหลากสีสัน แลดูเหมือนของหวานประเภทหนึ่ง
สลิ่มเสื้อแดง (น.)
ความหมาย: คนเสื้อแดงที่มีคุณลักษณะหรือพฤติกรรมคล้ายสลิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีตรรกะหรือเหตุผลรับรองที่หนักแน่นเพียงพอ การไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายในการเรียกร้องของตน และการเลือกปฏิบัติเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น
ที่มา: ใช้ครั้งแรกโดย ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในการวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวในการเรียกร้องความยุติธรรมของคนเสื้อแดงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 แต่มิได้เอ่ยถึงกรณีที่อากงถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีแม้แต่น้อย
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์