ขอน้อมนำ การจัดการขยะอย่างครบวงจรตามแนวพระราชดำริประโยชน์มหาศาลทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า จากขยะ และสามารถนำที่ดินมาหมุนเวียนในการฝังกลบขยะได้ยั่งยืน
การจัดการขยะอย่างครบวงจรตามแนวพระราชดำริได้เริ่มขึ้นจากความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และบริษัทกลุ่ม 79 จำกัด ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ และสามารถนำที่ดินมาหมุนเวียนในการฝังกลบขยะได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยความรู้ได้รับการถ่ายทอดในงานสัมมนา “การจัดการขยะแบบครบวงจรตามแนวพระราชดำริ”
ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานในงานกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานวันเกษตรแห่งชาติ ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการของศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับโครงการผลิตแก๊สจากขยะ และมีพระราชประสงค์จะให้โครงการนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและจริงจัง จึงได้พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนาให้แก่คณะทำงานของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ในรูปแบบของ “กองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ”
ในช่วงปี 2538 โครงการนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงต้องใช้คณะนักวิชาการทำการวิจัยศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมจากต่าง ประเทศ รวมถึงใช้งบจำนวนมากเพื่อดำเนินการต่อเนื่องเกือบ 15 ปี จนกระทั่ง พ.ศ.2552 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 480,080 ยูนิต โดยตลอดเวลาพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามโครงการผ่านราชเลขา และรายงานที่คณะทำงานทูลเกล้าฯ ถวาย ด้วยแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้มีการนำที่ดินมาหมุน เวียนเพื่อใช้ในการฝังกลบขยะ รวมถึงมีพื้นที่กำจัดขยะอย่างต่อเนื่องถาวร
ไชยยศ สะสมทรัพย์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทกลุ่ม 79 จำกัด ผู้สนับสนุนพื้นที่ในการศึกษา บอกว่า นี่เป็นโอกาสที่ทำให้ “ขยะ” มีคุณค่า และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนในอนาคต อีกทั้งได้เดินตามรอยพระราชดำริในการจัดการขยะแบบครบวงจร ทำให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์มากมาย
นอกจากนี้ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ยังมีการประสานงานกับท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับกระแสพระราชดำรัส “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” โดย การใช้สถานที่สร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวกำแพงแสน อันเป็นพื้นที่ก่อตั้งบ่อฝังกลบขยะ และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกตำบลพร้อมผู้นำท้องถิ่นหมุนเวียนมาออกกำลังกายใน ช่วงเช้าตรู่รอบบ่อฝังกลบผ่านกิจกรรม “เสาร์สุขภาพ” ที่กำหนดจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน รวมถึงทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่และได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน