การก่อการร้ายรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26% ในการก่อเหตุแต่ละครั้ง
จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานลดลง 9% เนื่องจากกลุ่มตาลีบันเปลี่ยนจากกลุ่มก่อการร้ายกลายเป็นรัฐบาล*
นอกประเทศอัฟกานิสถาน จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น 4% ทั่วโลก
กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอส และเครือข่าย ยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันในปี 2565 จากการก่อเหตุใน 21 ประเทศ
จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายของนักรบญิฮาดไม่ทราบกลุ่มทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 และคิดเป็น 32% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า
ภูมิภาคซาเฮลได้รับผลกระทบหนักที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 43% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั่วโลก และมากกว่าปีก่อนหน้า 7%
การก่อการร้ายลดลงในโลกตะวันตก แต่กลับรุนแรงขึ้นในภูมิภาคอื่นของโลก
การก่อการร้ายเติบโตในประเทศที่มีระบบนิเวศย่ำแย่และสภาพภูมิอากาศเลวร้าย
เทคโนโลยีโดรนถูกนำไปใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มไอเอส โบโกฮาราม และฮูตี
รายงานดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (Global Terrorism Index หรือ GTI) ประจำปีฉบับที่ 10 เผยให้เห็นว่า การก่อการร้ายมีความรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26% ในการก่อเหตุแต่ละครั้ง นับว่าเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
สถานการณ์การก่อการร้ายมีแนวโน้มดีขึ้นมากในช่วงปี 2559-2562 ทว่าทั้งการก่อเหตุและการเสียชีวิตเริ่มทรงตัวนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยจำนวนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายมีตั้งแต่ 43 ประเทศในปี 2563 ไปจนถึง 42 ประเทศในปี 2565
ศูนย์กลางการก่อการร้ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ประเทศที่เผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ความขัดแย้ง และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮล ซึ่ง 8 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคนี้มีคะแนนชี้วัดการขาดแคลนน้ำและอาหารย่ำแย่ที่สุดในรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (Ecological Threat Report หรือ ETR) ประจำปี 2565 โดยประเทศบูร์กินาฟาโซเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายพุ่งขึ้น 50% สู่ระดับ 1,135 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้น 8% ส่งผลให้ประเทศนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด
ในปีที่แล้ว การก่อการร้ายส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6,701 ราย ลดลง 38% จากระดับสูงสุดเมื่อปี 2558 อย่างไรก็ตาม อัตราการคร่าชีวิตของกลุ่มก่อการร้ายสองกลุ่มที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มไอเอสสังหารเหยื่อเพิ่มขึ้น 12% เป็น 2.9 รายต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้ง ขณะที่กลุ่มอัล-ชาบับ มีอัตราการคร่าชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 โดยเพิ่มขึ้น 32% เป็น 2.5 รายต่อการก่อเหตุหนึ่งครั้ง ข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่าประสิทธิภาพการก่อเหตุของสองกลุ่มนี้มีมากขึ้น ส่วนกลุ่มก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดลำดับถัดมาคือกองทัพปลดแอกบาลูจิสถาน หรือกลุ่มบีแอลเอ (Balochistan Liberation Army หรือ BLA) และกลุ่มญะมาอัต นุสรัต อัล-อิสลาม วาล มุสลิมีน (Jamaat Nusrat Al-Islam wal Muslimeen หรือ JNIM) ทั้งนี้ กลุ่มไอเอสยังคงคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน ขณะที่กลุ่มบีแอลเอที่ก่อเหตุในปากีสถานนั้น ตอนนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่โตเร็วที่สุดในโลก โดยคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้น 9 เท่า เป็น 233 รายในปี 2565
จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในภูมิภาคซาเฮลเพิ่มขึ้น 7% และตอนนี้สูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือรวมกัน นอกจากนี้ ซาเฮลยังเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 43% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั่วโลก ภูมิภาคซาเฮลมีความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และสถานการณ์ย่ำแย่ลงเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งไปกว่านั้นความท้าทายนานัปการยังมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งรวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนน้ำ การปกครองที่อ่อนแอ อาชญากรรมที่รุนแรง และอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เร็วที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะเดียวกัน ภูมิภาคนี้ยังได้รับผลกระทบจากความพยายามก่อรัฐประหาร 6 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งทำสำเร็จถึง 4 ครั้ง
ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สถานการณ์การก่อการร้ายในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในภูมิภาคเมื่อเทียบกับทั่วโลกลดลงอย่างมากตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จาก 57% ในปี 2559 เหลือไม่ถึง 12% ในปี 2565 ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 791 รายในปี 2565 หรือลดลง 32% และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 ส่วนการก่อเหตุลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือ 695 ครั้ง นอกจากนี้ การก่อการร้ายด้วยระเบิดฆ่าตัวตายในภูมิภาคยังลดลงอย่างมาก โดยปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากระเบิดฆ่าตัวตาย 1,947 ราย แต่ในปี 2565 มีการระเบิดฆ่าตัวตายเพียง 6 ครั้ง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 8 คน
ในโลกตะวันตก การก่อเหตุยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ปี 2560 โดยมีการก่อการร้าย 40 ครั้งในปี 2565 ลดลง 27% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีการก่อการร้าย 55 ครั้ง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า จาก 9 รายในปี 2564 เป็น 19 รายในปี 2565 ซึ่งผู้เสียชีวิต 10 คนในจำนวนนี้มาจากการก่อการร้ายครั้งเดียวกันที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นเหตุการณ์ที่มือปืนคนหนึ่งกราดยิงพลเรือนในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก โดยนับเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นในโลกตะวันตกนับตั้งแต่ปี 2562 ในส่วนของมูลเหตุจูงใจนั้น การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจมาจากอุดมการณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับลัทธิสุดโต่งทางการเมือง ยังคงเป็นการก่อการร้ายประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดในโลกตะวันตก ขณะที่การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางศาสนาลดลง 89% จากระดับสูงสุดในปี 2559
พลวัตของการก่อการร้ายกำลังเปลี่ยนไป โดยการก่อการร้ายที่ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบกลายเป็นเรื่องที่เกิดบ่อยขึ้น ทั้งนี้ จากการก่อเหตุของผู้ก่อการร้าย 3,955 ครั้งที่บันทึกไว้ในปี 2565 พบว่า 33% ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ ซึ่งนักรบญิฮาดไม่ทราบกลุ่มเติบโตเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซาเฮลซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากผู้ก่อการร้ายไม่ทราบกลุ่มสูงกว่าในปี 2560 ถึง 18 เท่า
อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.thaipr.net/general/3313627