กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท. ผลักดันปากพยูน จ.พัทลุง เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งจุดเด่นทางธรรมชาติ
ชูหลาดปากยูน เป็น Green Market เน้นความมีเอกลักษณ์ของตลาดสดท่าเรือปากพะยูน ซึ่งสะท้อนความเป็นแหล่งอาหารที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์
มิวเซียมรังนกเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่พัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้อนุรักษ์รังนกนางแอ่นธรรมชาติ (มิวเซียมรังนก) แห่งแรกในประเทศไทยจากแหล่งรังนกนางแอ่นธรรมชาติที่ ตำบลเกาะหมาก
“ลุงแลนด์ แกรนด์พัทลุง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ถูกค้นพบใหม่ มีภูมิทัศน์ของหินผาบนที่ราบกว้างที่สวยงามโดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น
พัทลุง - กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ต่อ "ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง” ผลักดันปากพะยูนมุ่งสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล”
กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเส้นทางท่องเที่ยวอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยผู้เข้าร่วมประชุมมาจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วยหน่วยราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม เข้าร่วมอย่างคับคั่ง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง
นายเรวัต จันทนงค์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน กรมการท่องเที่ยว ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า อำเภอปากพะยูน มีต้นทุนสูงทางการท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ และวัฒนธรรม และจะได้โอกาสครั้งสำคัญจากโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวใหม่ของพัทลุงในอนาคตอันใกล้ กรมการท่องเที่ยวจึงริเริ่มจัดทำร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้ร่วมกับ ททท. ลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และความต้องการในพื้นที่ ก่อนจะกำหนดกรอบแนวทางร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“กล่าวได้ว่า กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการจัดทำ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกฝ่ายจะเกิดความเข้าใจในบริบทของการพัฒนาและขับเคลื่อนพื้นที่ให้ไปในทิศทางเดียวกันเกิดการบูรณาการการทำ
งานร่วมกันอย่างเป็นระบบ” ประธานที่ประชุมกล่าว
อนึ่งการจัดทำร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครั้งนี้ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการยกระดับเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
จากนั้น ดร.แก้วตา ม่วงเกษม หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอ ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือ “มุ่งสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทีมีความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล”
ร่างแผนพัฒนาดังกล่าว เกิดจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน คือ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานสากล พัฒนาบุคลากร พัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม พัฒนาเชิงวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของพื้นที่ และยกระดับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อปกป้องความั่นคงทางอาหารของพื้นที่
ชูการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 3 รูปแบบ
ส่วนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมาจาก 3 รูปแบบ คือ 1. หลาดปากยูน เป็น Green Market เน้นความมีเอกลักษณ์ของตลาดสดท่าเรือปากพะยูน ซึ่งสะท้อนความเป็นแหล่งอาหารที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท่ามกลางการอยู่ร่วมกันของผู้คนอย่างกลมกลืน ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่เทศกาลอาหาร ชูวัตถุดิบท้องถิ่น การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ
2. มิวเซียมรังนก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่พัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้อนุรักษ์รังนกนางแอ่นธรรมชาติ (มิวเซียมรังนก) แห่งแรกในประเทศไทยจากแหล่งรังนกนางแอ่นธรรมชาติที่ ตำบลเกาะหมาก ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเนื้อหา และศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว
3. “ลุงแลนด์ แกรนด์พัทลุง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ถูกค้นพบใหม่ มีภูมิทัศน์ของหินผาบนที่ราบกว้างที่สวยงามโดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น นำไปสู่การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับตัวตนของพื้นที่ และเชื่อมโยงไปสู่ชุมชนใกล้เคียง
อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่
https://www.thaipr.net/travel/3281947