สำหรับประเทศไทยภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากฝนทิ้งช่วงและฝนไม่ตกตามฤดูกาลหรือน้อยกว่า โดยปกติแล้วประเทศไทยจะมีฝนตกทั่วประเทศ ประมาณ 730,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี น้ำฝนจะซึมลึกสู่ชั้นผิวใต้ดิน 10 % และสามารถสูบได้ประมาณ 45,645 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดทำแผนรองรับสำหรับเหตุการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น “การเจาะบาดาล” เป็นมาตรการหนึ่งที่จะมารองรับและช่วยเหลือประชาชนได้ จากการรวบรวมข้อมูล ปัจจุบันเราใช้น้ำบาลดาลไปแล้วจำนวน 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังคงเหลือที่สามารถใช้ได้อีกราวๆ 30,645 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 1 โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั่วโลก เข้าหารือร่วมกันในหัวข้อน้ำบาดาล: กุญแจสู่ความมั่นคงและยั่งยืน 1st THAILAND INTERNATIONAL GROUNDWATER SYMPOSIUM: KEY TO WATER SECURITY AND SUSTAINABILITY ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ โดยแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับปัญหาน้ำบาดาล และยกระดับความสำคัญของน้ำบาดาลบนเวทีระดับนานาชาติ เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ ช่วยเหลือเรื่องน้ำอุปโภคและบริโภคแก่ประชากรในประเทศ และนี่ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดงานประชุมเรื่องน้ำบาดาลครั้งใหญ่ ประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ เป็นเรื่องของการจัดทำแผนที่น้ำบาดาล เพื่อจะช่วยให้สามารถขุดเจาะน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เดิมประเทศไทยมีแผนที่น้ำบาดาล แต่ยังไม่ละเอียดมากพอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณจากรัฐบาลในการจัดทำแผนที่ฯ
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการนำน้ำบาดาลมาใช้ ในต่างประเทศได้นำมาใช้เช่นกัน ได้แก่ เดนมาร์กที่ใช้น้ำบาดาลเพื่ออุปโภคและบริโภคถึง 100% แล้ว รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้น้ำบาดาลเกินครึ่งของประเทศ เป็นต้น ผลการดำเนินงานของกระทรวงฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำบาดาลถูกพัฒนาและเติบโตไปอย่างรวดเร็ว สามารถเจาะได้ลึกเกิน 1,000 เมตร และแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนทั่วประเทศแล้ว กว่า 1 หมื่น และพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์กว่า 42,000 ไร่