วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส หรือที่เรียกกันว่า โควิด-19 ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในวงกว้างถึงความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในอันที่จะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ของโลก การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับพื้นฐานด้วยตนเองเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสำรองไว้ใช้เองยามฉุกเฉินหรือในยามเกิดภาวะขาดแคลน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มุ่งมั่นที่จะฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อช่วยกันลดความสูญเสียแก่คนไทยและสังคมไทยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงทีและเต็มศักยภาพในระยะเวลาอันรวดเร็ว
รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกและวงการอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้กระทั่งด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มนวัตกรรมบริการสุขภาพเชิงรุก ซึ่งพัฒนาจากความคิดสร้างสรรค์ของฝ่ายปฎิบัติงานในภาคสนาม
ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 เป็นต้นมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ร่วมวิจัย พัฒนา คิดค้นและผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ภายใต้ ศูนย์ KMITL GO FIGHT COVID-19 สจล. ซึ่งเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และนวัตกรรมในด้านการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 ด้วยการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่หลากหลาย อาทิ เครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Transport Ventilator – KNIN II) โดยใช้ต้นแบบจากมหาวิทยาลัย MIT และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เครื่องนี้สามารถเลือกตั้งค่า operation setting mode เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการหายใจของผู้ป่วยแต่ละราย ตั้งค่าแจ้งเตือน highest pressure ช่วยลดสัมผัสผู้ป่วย แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ ยังมี กล่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด ฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบรังสีอัลตร้าไวโอเลต นำเครื่องมือทางการแพทย์ไปอบฆ่าเชื้อได้, ระบบคัดกรองบุคคลด้วย AI ตัวเครื่องติดสัญญาณเชื่อมต่อกับไซเรน ประมวลแล้วแจ้งผลภายในเวลา 0.5 วินาที, รถตู้ตรวจเชื้อ (Mobile Swab Test) ภายในรถติดตั้งระบบความดันบวก ติดอุปกรณ์สื่อสารเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ มีระบบกรองอากาศภายในตัวรถ ช่วยลดความเสี่ยงระหว่างการสอบสวนโรค, ชุด PAPRs หน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ ใช้ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องออกตรวจในพื้นที่เสี่ยง ลดการใช้งานชุด PPE ที่ทั้งร้อนและสิ้นเปลือง
การพัฒนาเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow เน้นการออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ทั้งในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลเฉพาะทาง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้า 3-4 เท่า, เอไอวัดสัญญาณชีพทางไกล (CROMAS) เครื่องตรวจวัดและติดตามอาการผู้ป่วยวิกฤตอย่างใกล้ชิดแบบไร้สัมผัส แสดงผลเรียลไทม์ไปยังมอนิเตอร์ส่วนกลาง เพื่อให้แพทย์ทำการวิเคราะห์ผลและให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที เป็นการผสานความรู้ทางการแพทย์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
นวัตกรรมหุ่นยนต์ RAIBO-X ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV ครั้งแรกของคนไทย โดยฝีมืออาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สามารถฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1–1.5 เมตร และกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา รวมทั้งเชื้อโรคชนิดต่างๆ รวมถึงเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งหุ่นยนต์ RAIBO-X มีการใช้งานด้วยระบบ AI
นวัตกรรมที่มีความสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ขณะทำการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย คือ ตู้ตรวจเชื้อ Swab Test ใช้ระบบความดันลบภายในห้อง พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ส่วนตู้ตรวจเชื้อความดันบวก จะใช้สำหรับการเก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 เน้นการใช้งานภายนอก หรือการลงพื้นที่ตรวจเชื้อในกลุ่มเสี่ยงที่มีจำนวนมาก
“สจล. ได้จัดส่งนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ เฉพาะในประเทศรวมกว่า 300 แห่ง ใน 66 จังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการส่งตู้ตรวจความดันลบ ให้ประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว และมัลดีฟ อีกด้วย”
“คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพและโรคระบาด สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ บทเรียนจากการขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ช่วงที่เกิดโรคระบาดทั่วโลก ทำให้รู้ว่าการพึ่งพาตนเองมีความสำคัญมากเพียงใด ซึ่งถ้าหากเราสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ได้เอง พึ่งพาต่างชาติน้อยลง ก็จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมาก” รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล กล่าว
ประชาสัมพันธ์ : PIMDAWAN
วันที่ลงข่าวประชาสัมพันธ์ : 06-09-64