นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปักหมุดหมายไว้ว่า จะเปิดประเทศใน 120 วัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การทำมาหากิน ชีวิตปากท้องของคนในประเทศให้เดินต่อไปให้ได้ โดยให้คำมั่นว่า จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับวัคซีนมาฉีดตามเป้าหมาย และขอคนไทยร่วมใจกันเดินหน้าควบคุมโรค ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน ไม่มัวทะเลาะขัดแย้งกัน
น่าคิดว่า การเปิดประเทศใน 120 วัน ก็คือการเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจประเทศนั่นเอง
หากเดินหน้าเปิดประเทศได้จริงภายใน 120 วัน แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยย่อมจะปรากฏผลฟื้นคืนขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีนี้ (6 เดือน) หรือช่วงเดือนมกราคมปีหน้า
เปิดประเทศใน 120 วัน ฟื้นเศรษฐกิจไทย ใน 180 วัน
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่ต้องทำอะไรอีกเลย นั่งรอเปิดประเทศเลย แต่รัฐบาลลุงตู่จะต้องมีชุดมาตรการทางเศรษฐกิจออกมาอีกมากมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น
1. ล่าสุด สภาพัฒน์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5
เท่ากับว่า ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ (จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563)
ปัจจัยสนับสนุน มาจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณ การค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ (3) การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติ ในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวร้อยละ 10.3 ขณะที่การอุปโภค-บริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 1.6 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.7 ของ GDP
การคาดการณ์ของสภาพัฒน์ มีรายละเอียดที่มาของข้อมูล โดยการคาดการณ์ล่าสุดนี้ ได้ปรับตัวเลขลดลงจากเดิม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกล่าสุดแล้ว
2. โจทย์บริหารเศรษฐกิจ 6 เดือนที่เหลือของปี’64
ล่าสุด สภาพัฒน์ ได้เสนอแนะในที่ประชุม ครม. ถึงประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2564 ระบุว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2564 (ช่วง 6 เดือนที่เหลือ) ควรให้ความสำคัญสิ่งต่อไปนี้
(1) การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ โดยมุ่งเน้น
(i) การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการยกระดับกระบวนการเฝ้าระวังสอบสวนโรคเชิงรุก โดยเฉพาะ การเร่งรัดการตรวจเชิงรุกในเขตพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองต่างๆ ที่ยังคงเผชิญกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดรุนแรง รวมทั้งการดูแลและควบคุมกิจกรรมและกิจการบางประเภทที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการระบาดของโรคอย่าง
เข้มงวด และการป้องกันการนำเข้าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มเติมโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้ที่เดินทางข้ามชายแดน
(ii) การเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชน อย่างครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอเพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยการจัดลำดับความสำคัญตามหลักการสาธารณสุขในการกระจายให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งในภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
(iii) การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุข ให้เพียงพอต่อการรองรับการแพร่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
และ (iv) การเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ในการเข้ารับวัคซีน รวมถึงการรณรงค์เกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติและดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่และลดโอกาสการกลับมาติดเชื้อซ้ำภายหลังได้รับวัคซีนแล้ว
https://www.naewna.com/politic/columnist/48110