1. ในกรณี โลหิตเป็นพิษ (A40-A41) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 38.6 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงถึง 135.2 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 47.6 คน แสดงว่าชาวระยองมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าอย่างชัดเจน
2. ในกรณี เนื้องอก (C00-D48) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 99.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 123.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึง 185.6 คน แสดงว่าระยองคงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ
3. ในกรณี โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด และความผิดปกติเกี่ยวกับกลไกของภูมิคุ้มกัน (D50-D89) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.1 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 1.7 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 1.9 คน แสดงว่าระยองก็คงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ
4. ในกรณี โรคทางจิตเวชและความผิดปกติของพฤติกรรม (F01-F99) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงมากถึง 2.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 0.8 คน แสดงว่าชาวระยอง แม้มีความตายจากโรคจิตเวช แต่ก็ยังเพียง 57% ของทั่วประเทศ
ตามที่มีบางพวกกล่าวว่าระยอง-มาบตาพุดมีมลพิษทั้งจากโรงงานขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประจักษ์หลักฐานอย่างหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือจำนวนบ้านจัดสรร-อาคารชุดที่เกิดขึ้นมหาศาลในแต่ละปี โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนบ้านจัดสรรและอาคารชุดในเขตเทศบาลนครระยอง เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง มีเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสความเชื่อผิดๆ ที่ว่าบริเวณดังกล่าวมีมลพิษจนประชาชนไม่กล้าเข้าไปอยู่
ข้อมูลเฉพาะปี 2559-2563 หรือ 5 ปีล่าสุด มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ถึง 33,891 หน่วย รวมมูลค่าถึง 74,095 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2.186 ล้านบาท การเปิดตัวของที่อยู่อาศัยในแต่ละปีนั้น ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับในปี 2563 คาดว่าจะมีการเปิดตัวทั้งหมด 7,445 หน่วย รวมมูลค่า 15,350 ล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าโดยเฉลี่ยแต่ละปี มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ปีละ 6,778 หน่วย รวมมูลค่าเฉลี่ย 14,819 ล้านบาท ถ้ามีมลพิษจริง ก็คงไม่มีการเปิดตัวโครงการกันมากขนาดนี้ในแต่ละปี
สำหรับในรายละเอียดพบว่ามีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่เฉพาะในช่วงปี 2559-2563 ถึง 417 โครงการ โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นทาวน์เฮาส์ 16,574 หน่วย หรือ 49% ของอุปทานทั้งหมด รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 9,486 หน่วย หรือ 28% นอกนั้นเป็นบ้านแฝด อาคารชุดและอาคารพาณิชย์ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในด้านมูลค่า บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนสูงสุดถึง 39% รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 35% บ้านแฝด 14% อาคารชุดและอาคารพาณิชย์ตามลำดับ
บ้านเดี่ยวที่นำเสนอขายในตลาดมีราคา 2-3 ล้านบาทเป็นสำคัญ ส่วนบ้านแฝดมีราคาอยู่ที่ 2-3 ล้านบาทเป็นสำคัญเช่นกัน ส่วนทาวน์เฮาส์ กลุ่มใหญ่ที่สุดขายในราคา 1-2 ล้านบาทเป็นหลัก และโครงการอาคารชุดมักขายห้องชุดในราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับในพื้นที่ระยอง-มาบตาพุดยังมีพื้นที่ว่างอยู่มากมาย ความต้องการห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยจึงมีจำกัด
โดยสรุปแล้ว โครงการที่อยู่อาศัยภาคเอกชนนี้ ประชาชนผู้ซื้อบ้านในพื้นที่สมัครใจอยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้เองโดยไม่มีการบังคับ และไม่ใช่ผลการบังคับด้านเศรษฐกิจที่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยในราคาถูกเพราะจำเป็นต้องทำงานใกล้ที่ทำงาน แต่คงเป็นเพราะในบริเวณนี้ไม่ได้มีมลพิษมากมายดังที่ได้รับการเข้าใจผิดๆ ดังนั้น ที่อยู่อาศัยจึงเกิดเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลสวนทางกับความเชื่อดังกล่าว ระยองและมาบตาพุดไม่ได้มีมลพิษดังที่เชื่อ พิสูจน์ได้จากการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของบ้านจัดสรร-อาคารชุดในพื้นที่
จำนวนโรงแรมในเขตอำเภอเมืองระยองก็เพิ่มขึ้นมาก
มีบางกลุ่มกล่าวว่าในจังหวัดระยองและมาบตาพุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน น่าจะมีมลพิษในระดับสูง แต่ในความเป็นจริง ยังมีโรงแรมเกิดเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา หักล้างความเชื่อดังกล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2563 ดร.โสภณ ได้ไปสำรวจการเกิดขึ้นของโรงแรมต่างๆ ในเขตเทศบาลนครระยอง และเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ปรากฏว่าโรงแรมต่างๆ เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากมีมลพิษจริง โอกาสที่จะเกิดโรงแรมใหม่ๆ คงมีน้อยมาก นี่แสดงว่ามลพิษไม่มีจริงหรือมีน้อยเกินกว่าที่ประชาชนจะมีชีวิตอย่างปกติสุข
ประชากรในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น
บางคนกลัวว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริง ประชากรตามบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินกลับไม่ได้ลดลงตามอ้าง สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษหรือไม่ ก็ดูได้จากจำนวนประชากรในพื้นที่ในฐานะที่เป็นประจักษ์หลักฐาน หรือเป็น Hard Facts ที่ชัดเจนที่สุด ถ้าประชากรเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง ก็แสดงว่าไม่มีมลพิษ แต่ถ้าประชากรลดลง ก็อาจแสดงว่ามีปัญหาในพื้นที่เพราะประชาชนคงอยู่ไม่ได้เนื่องจากมลพิษนั่นเอง เรามาดูการเปลี่ยนแปลงประชากรในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง คือที่จังหวัดระยอง และที่เหมืองแม่เมาะ ลำปาง ดูว่าข้อมูลประชากรเป็นอย่างไรบ้าง
1. ที่จังหวัดระยองมีโรงไฟฟ้าอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บจก.เก็คโค-วัน โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี ตั้งอยู่ในเขตมาบตาพุตและอำเภอเมืองระยอง มีเขตการปกครองที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งอยู่ 2 แห่งคือ เทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด
2. ที่จังหวัดลำปางที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ มีเทศบาลตำบลแม่เมาะตั้งอยู่ และยังมีพื้นที่ในตำบลอื่นในอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลประชากรชี้ให้เห็นว่า ในกรณีจังหวัดระยองพบว่าในเขตเทศบาลเมืองระยอง มีประชากร ณ สิ้นปี 2552 อยู่ 59,262 คน แต่ ณ สิ้นปี 2562 มี 63,565 คน หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 0.7% โดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วประเทศที่ 0.47% ยิ่งในกรณีเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดที่มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ก็ปรากฏว่า อัตราเพิ่มของประชากรสูงถึง 3.49% ต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา